Home » บทความเรื่องน่ารู้ » วิธีการตรวจเช็คเครื่องมือวัดหลังจากสอบเทียบ

วิธีการตรวจเช็คเครื่องมือวัดหลังจากสอบเทียบ

แชร์หน้านี้ Line

        ปัจจุบันมาตรฐานต่างๆถูกนำมาปรับใช้ในอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะให้สินค้าที่ผลิตมีคุณภาพนั้นจึงมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการสอบเทียบเครื่องมือวัดขึ้นมา ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของหน่วยงานนี้ทำหน้าที่ในการยืนยันความสามารถของเครื่องมือวัดว่า เครื่องมือวัดตัวนั้นยังคงรักษาขีดความสามารถในการวัดได้ดีหรือไม่ แต่ในกระบวนการตรวจเช็คความสามารถของเครื่องมือวัดหลังจากส่งสอบเทียบนั้นมักจะมีการเข้าใจผิดก่อนที่จะนำเอาเครื่องมือมาใช้งานอยู่เสมอ

        บริษัท เอเอ็นพี เมโทรโลยี พรีซิชั่น จำกัดจึงมีแนวความคิดที่จะเผยแพร่ความรู้ในการจัดการเครื่องมือวัดหลังจากได้ส่งเครื่องมือวัดสอบเทียบกับห้องปฏิบัติการ ซึ่งรายละเอียดการจัดการเครื่องมือวัดหลังจากการส่งสอบเทียบมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. ทำการตรวจเช็คเครื่องมือวัดเบื้องต้นว่าเครื่องมือวัดยังคงความสามารถในการใช้งาน ไม่มีความเสียหายในระหว่างกระบวนการสอบเทียบและกระบวนการขนส่ง ทำการตรวจเช็คโดยการนำชิ้นงานที่เคยใช้วัดมาลองวัดเทียบกับเครื่องมือวัดตัวอื่น(ถ้ามี) ผลการวัดที่ได้ต้องไม่มีความแตกต่างกันเกินกว่าก่อนส่งเครื่องมือสอบเทียบ
  2. ตรวจสอบผลการสอบเทียบเครื่องมือวัด ซึ่งโดยปกติแล้วใบรายงานผลการสอบเทียบเครื่องมือวัดจะมีรายละเอียดต่างๆเหล่านี้แนบมาเสมอ ได้แก่
  • ค่ามาตรฐาน (STD) ค่าของเครื่องมือมาตรฐาน ซึ่งปกติแล้วจะมีค่าเท่ากับจุดสอบเทียบที่ลูกค้าระบุไว้ในใบคำร้องขอรับบริการสอบเทียบ
  • ค่าที่อ่านได้ (UUC) ค่าที่อ่านได้จากเครื่องมือของลูกค้าเอง เมื่อเทียบกับจุดที่เครื่องมือมาตรฐานที่อ่านค่าได้
  • ค่าความผิดพลาด (Error หรือ Correction) ค่าความแตกต่างระหว่างเครื่องมือมาตรฐานกับเครื่องมือวัดของลูกค้าเอง (อาจมีหรือไม่มีก็ได้)
  • ค่าความไม่แน่นอนในการวัด (Uncertainty) ค่าที่หลังจากส่งเครื่องมือสอบเทียบทุกครั้งจำเป็นต้องมีค่านี้ติดมากับใบรายงานผลการสอบเทียบทุกครั้ง (ไม่มีถือว่าการสอบเทียบไม่สมบูรณ์)

        ให้ทำการตรวจเช็คค่าเหล่านี้ทุกครั้งหลังจากได้รับเครื่องมือกับใบรายงานผลการสอบเทียบว่าครบถ้วนหรือไม่ หากว่าไม่ครบถ้วนตามรายละเอียดข้างต้นให้ทำการติดต่อห้องปฏิบัติการที่ลูกค้าใช้บริการอยู่ เพื่อสอบถามรายละเอียดเหล่านี้ให้ชัดเจน

        3. นำเอาผลการสอบเทียบมาตรวจสอบกับเกณฑ์ของเครื่องมือวัดที่กำหนดโดยเกณฑ์ของทางบริษัทลูกค้าเอง ซึ่งหลักการตรวจสอบสินค้ามีดังนี้

        รายละเอียดผลการสอบเทียบ Temperature Indicator with RTD Pt100 ที่จุดสอบเทียบเท่ากับ 35OC มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

STD Value UUC Reading Error Uncertainty(±)
35.000 ˚C 35.05 ˚C 0.05 ˚C 0.16 ˚C

        ทางบริษัทของลูกค้ากำหนดเกณฑ์การสอบเทียบของเครื่องมือวัดไว้ว่า ผลการสอบเทียบ Temperature Indicator with RTD Pt100 นี้ต้องอยู่ใน Class A ตามมาตรฐาน DIN IEC-751 ระบุไว้คือ 

T = ± (0.15 + 0.002ltl) ; เมื่อ T = ค่า Error ที่จุดอุณหภูมิเท่ากับ t และ t = จุดอุณหภูมิที่ต้องการตรวจสอบ ที่จุดสอบเทียบเท่ากับ 35 °C จะมีค่า Error เท่ากับ ±0.22 °C ตาม Class A

การตรวจสอบเครื่องมือวัดนั้นเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดโดยนำเอาค่า Error + Uncertainty เทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นจะได้

(0.05 °C + 0.16 °C) ≤ ±0.22 °C
0.21 °C     ≤ ±0.22 °C


จากการตรวจสอบผลการสอบเทียบเครื่องมือวัดเทียบกับเกณฑ์ดังกล่าวจึงผ่านเกณฑ์ที่กำหนด

** ข้อควรระวัง: การนำเอาผลการสอบเทียบเครื่องมือวัดมาตรวจสอบเทียบกับเกณฑ์นั้น ค่า Uncertainty จะมีค่าเป็น ± อยู่เสมอ การรวมกันของค่า Error กับค่า Uncertainty ต้องเป็นค่าเบี่ยงเบนที่สูงสุดเสมอ เช่น

กรณีที่ผลการสอบเทียบให้ค่า Error ที่เป็นค่าลบ ให้นำเอาค่า Uncertainty ที่เป็นค่าลบมารวมด้วยดังนี้

Error = (-0.02 °C), Uncertainty = ±0.16 °C


การนำเอาผลการสอบเทียบเพื่อตรวจสอบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดควรจะเป็น

Error + Uncertainty = (-0.02 °C) + (-0.16 °C) = (-0.18 °C)


การนำเอาหลักการข้างต้นนี้ไปประยุกต์ใช้ในองค์กรเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อความถูกต้องและใช้งานเครื่องมือวัดอย่างมีประสิทธิภาพ หากท่านมีข้อสงสัยประการใดโปรดติดต่อบริษัท เอเอ็นพี เมโทรโลยี พรีซิชั่น จำกัด

        Key Word: การตรวจสอบเครื่องมือวัดหลังจากส่งสอบเทียบ, Uncertainty, เกณฑ์การตรวจสอบเครื่องมือวัด